กว่าจะมาเป็น ชมรมลีลาศ ส.มก.
ตั้งแต่พี่เชิดพงศ์ โสภณ KU ๖ เริ่มจัดงานเต้นรำ “ฟลอร์กลางทุ่ง” ขึ้นเมือวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๒ การเต้นรำก็เป็นสิ่งรื่นเริงบันเทิงใจของพวกเราชาวบางเขนเสมอมา จนพัฒนามาเป็น “ลีลาศโต้รุ่งกลางทุ่งบางเขน” ในคืนวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ อันเป็นวันคืนสู่เหย้าของเราทุกปีมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง งานนี้เป็นที่รู้จักกันดีและเป็นที่นิยมชมชอบกันในสังคม เท้าไฟหลายคนอุตส่าห์ขับรถจากในเมืองเพื่อไปสนุกที่ทุ่งบางเขน สำหรับเราชาวบางเขนแล้ว ถือว่าเป็นงานที่พวกเราตั้งตารอคอย โดยเฉพาะนิสิตหญิง เป็นคืนเดียวในรอบปีที่อาจารย์ชวนชม จันทระเปารยะ ผู้ปกครองนิสิตหญิง ยอมเปิดประตูหอพักให้เราทั้งคืน โดยปกติแล้วเราถูกควบคุมด้วยกฎเหล็ก ต้องกลับเข้าหอก่อน ๑ ทุ่ม หลังจากนั้น ประตูจะปิด ถ้าใครกลับมาถึงหอหลัง ๑ ทุ่ม ก็เตรียมตัวรับโทษได้เลย
พูดกันถึงงานโต้รุ่งแล้ว พวกเราจะสนุกกันตั้งแต่ยังไม่ถึงวันงาน พวกที่ยังเต้นรำไม่เป็น ก็ต้องหัด พวกที่รักสวยรักงามก็เตรียมชุดสวยๆ จะเต้นไม่เก่ง หรือไม่ชอบแต่งตัวก็ต้องไปงานทุกคน ไม่มีใครบังคับ ทุกคนสนุกที่จะไป ไม่มีใครยอมพลาด งานยิ่งใหญ่ประจำปี เท้าไฟสมัยนั้นก็คือ ฮ.ศักดิ์ สุนทรสิงห์ อ.พุม ขำเกลี้ยง ดร.สุนทราภรณ์ และอีกหลายคน ฯลฯ เป็นโอกาสเดียวที่พวกเรานิสิตหญิงได้เต้นรำกับอาจารย์ที่เก่งๆหรือจะพูดใหม่ว่า อาจารย์หนุ่มได้เต้นรำกับลูกศิษย์สาวก็ได้ เป็นงานที่เราสนุกกันมาก เต้นกันไปเหนื่อยก็พัก จนฟ้าสาง งานเลิก ก็มาช่วยพี่ๆ ขายไข่ไก่ ผัดสด ที่ขยันผลิตเอง ให้แก่พวกมาเต้นรำซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน เป็นตลาดนัดเล็กๆที่น่ารักที่สุด
จากนั้น เราก็จะมีงาน “ชาวเรือ-ชาวไร่” เป็นงานเชื่อมความสามัคคีระหว่าง มก. กับโรงเรียนนายเรือ กลางวันจะมีแข่งรักบี้ หลังจากนั้นร่วมงานเลี้ยง แล้วก็เต้นรำ งานนี้สนุกรองลงมาจากงานโต้รุ่งฯ แต่ก็เชื่อมสัมพันธ์ได้ดีมากจนชาวไร่และชาวเรือตกลงใจร่วมชีวิต สร้างครอบครัวกันไปหลายคู่
และเราก็มีงานใหญ่ที่เต้นรำอีกงานคือ งานฉลองปริญญา ซึ่งงานนี้เราถือว่าสำคัญที่สุด เป็นงานที่สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดฉลอง แสดงความยินดีให้แก่บัณฑิตใหม่ บางปีก็จัดที่ฟลอร์สวนอัมพร บางปีก็จัดที่ฟลอร์สวนลุมพินี งานนี้บัณฑิตหญิงจะใส่ชุดราตรียาวสีขาว สวยสง่าเหมือนนางฟ้า บัณฑิตชายก็หล่อเหลาในสูทสากล เป็นงานที่มีความหมายกับบัณฑิตใหม่มาก นอกจากฉลองความสำเร็จแล้ว สิ่งที่สำคัญที่พี่ๆแสดงออกนั่นคือความรักที่มีต่อน้อง ความซาบซึ้งในใจมีมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ไม่ทราบว่า หลังจากนั้น ประเพณีที่ดีๆของเราหายไปไหน หายไปได้อย่างไร ไม่มีการฉลองปริญญา ไม่มีการเต้นรำ ไม่มีใครพูดถึงงานลีลาศ จนเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้ลีลาศก็กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง คราวนี้มาในลักษณะการออกกำลังกายที่ดี สากลจัดเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง
พวกเราชาวบางเขน ที่ยังมีดนตรีและลีลาศในหัวใจ ยังคงไม่ลืมความสนุก ความสุขในวันเก่าๆ ก็หวนกลับมาเต้นรำกันอีกเหมือนกับคนอื่นๆในสังคมทุกวันนี้ โดยเฉพาะส่วนใหญ่อยู่ในวัยทอง แพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกายเอสุขภาพ จะวิ่งก็ไม่สนุก จะเล่นเทนนิส แบดมินตัน ก็ไม่ไหว จะเดินรอบๆบ้านก็น่าเบื่อ ไม่สนุก และแล้วพี่ย้า(นรา สะวิคามิน) ดวงทิพย์ เปรมจิต K.U.๒๐ สองคนก็จูงมือกันไปที่ชมรมผู้สูงอายุบางเขน รำไท้เก็ก รำวง รำไทย เต้นรำเพื่อออกกำลังกาย เต้นไป เต้นมา ก็เจอกับพี่บุญจันทร์ K.U.๑๔ และภรรยา ซึ่งก็มาออกกำลังกายเหมือนกัน สองพี่สองน้อง ก็ได้สรุปกันว่า กิจกรรมเพื่อสุขภาพนี้ เราชอบเต้นรำมากที่สุด และก็รู้สึกตัวว่า สุขภาพกาย สุขภาพจิต เราดีขึ้น เมื่อมีอะไรดีๆก็คิดถึงเพื่อน ถึงพี่ ถึงน้อง น่าจะได้มาออกกำลังกายด้วยกัน หวนนึกถึงความหลังครั้งยังเรียน K.U.๒๐ ๒ คนนี้ เคยเป็นคู่เต้นให้กับนิสิตคณะวนศาสตร์ ซึ่งต้องลงทะเบียนเรียนวิชากิจกรรมเข้าจังหวะ ไม่ทราบว่าเป็นความคิดของอาจารย์ท่านใด ลูกศิษย์ของท่านจึงสมาร์ททุกคนคิดไปคิดมา อยากจะไปงานลีลาศโต้รุ่งกลางทุ่งบางเขนอีก
และแล้ววันหนึ่งพี่บุญจันทร์ก็ชวนน้อง K.U.๒๐ สองคนนี้ไปเที่ยวเกาะเกร็ดกับพี่ๆรุ่น ๑๑-๑๕ ซึ่งเดี๋ยวนี้รวมเป็นรุ่นเดียวและมีสังสรรค์กันเปนประจำ เรา ๒ คน ก็ตามพี่ไปพร้อมวางแผนในใจให้พี่ๆ ช่วยกันพลิกฟื้นคืนชีพงาน” ลีลาศโต้รุ่งกลางทุ่งบางเขน” กันดีกว่า เมื่อลองเกริ่นๆดูกับพี่กษม K.U.๑๕ เป็นคนแรก ก็ถือว่าฤกษ์ดี พี่เห็นด้วยให้เราช่วยกันทำ พี่จะสนับสนุน พี่มงคล K.U.๑๑ ก็เห็นด้วย ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ก็เชียร์ เรียกว่าพี่ๆทุกคนที่เราเรียนปรึกษาก็อยากจะร่วมงาน ” ลีลาศโต้รุ่งกลางทุ่งบางเขน” กันอีก
เมื่อได้กำลังใจจากพี่ๆ พี่ย้า พี่ทิพย์ ก็มาหารือกับคุณศิริ ชมชาญ นายก ส.มก.ในขณะนั้น ว่างานคืนสู่เหย้าชาวนนทรี ปี ๒๕๔๕ พวกเรา K.U. พี่ น้อง ลูก หลาน น่าจะรวมพลังสามัคคี แสดงสปิริตเปิดฟลอร์ลีลาศด้วยกัน เพื่อเพิ่มสีสันให้งาน คุณศิริ เห็นด้วยและบอกว่า K.U.๒๘ หลายคนมีความสามารถทางด้านนี้อยู่ จะมาช่วยกัน ว่าแล้วก็เชิญประชุมศิษย์เก่าที่สามารถติดต่อได้ ก็มีพี่มงคล K.U.๑๑ อ.วิชา สุขกิจ (พี่แจ้ว) K.U.๑๑ พี่บุญจันทร์ อ.ศักดิ์ อ.สะเทื้อน K.U.๑๔ พี่กษม พี่จรัส พี่สุกใส K.U.๑๕ พี่หมู K.U.๑๘ พี่ปัทม์ พี่ศรีพรรณ K.U.๑๙ พี่ย้า พี่ทิพย์ K.U.๒๐ ดร.เอิบ เขียวรื่นรมย์ K.U.๒๓ คุณสุนิดา คุณทรงศักดิ์ คุณวิโรจน์ K.U.๒๘และอีกหลายๆคนที่มิได้เอ่ยชื่อ ต้องขออภัยด้วย ที่ประชุมลงความเห็นว่า ไม่น่าจะมีเพียงการเปิดฟลอร์ในงาน Home Coming Day เพียงอย่างเดียว ไหนๆจะฟื้นฟูการเต้นรำแล้ว ก็ตั้งเป็น ชมรมลีลาศ ส.มก.เสียเลย เพื่อจะได้มีกิจกรรมต่อเนื่องกันไป สำหรับพวกเราชาวสมาชิก ส.มก. ได้มาสังสรรค์ออกกำลังกาย ฟื้นฟูการเต้นรำกัน และจากการตั้งชมรมนี้ เราอาจจะขยายกิจกรรมอื่นได้อีก ซึ่งก็เป็นจริง คือ เรามีชมรมบันเทิงและท่องเที่ยวตามมาติดๆ ซึ่งมุ่งเน้นร้องเพลง
เมื่อเป็นชมรมแล้ว ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อ.เอิบ เสนอให้ช่วยกันลงขัน พี่แจ้ว K.U.๑๑ ควักประเดิมทันที ๑,๐๐๐ บาท ในเมื่อเป็นชมรม ก็ต้องมีระเบียบ ที่ประชุมจึงเสนอให้ อ.สะเทื้อน เป็นประธาน ดวงทิพย์ เป็นเลขานุการชมรม และช่วยกันเลือกกรรมการ ร่างระเบียบขึ้นมาใช้ก่อน ซึ่ง อ.สะเทื้อน ขอช่วนงานนี้สัก ๑ ปี จากนั้นอยากจะให้ K.U รุ่นใหม่ๆมาดำเนินงานต่อ
งานแรกที่ชมรมฯจะต้องทำคือ วันที่ ๒ ก.พ.๒๕๔๕ งานหลังหอประชุม จะมีการเปิดฟลอร์หมู่ใหญ่ ประกอบด้วย น้อง พี่ เพื่อน สามี ภรรยา พ่อ แม่ ลูก ซึ่งเป็น แท้ๆ โดยใช้ชื่อโชว์นี้ว่า “สีเขียวยังเข้ม” และสีเขียวของเราก็เข้มจริงๆ เราช่วยกันบอกต่อๆ เชิญชวนชาว K.U มาร่วมกิจกรรมนี้ด้วยกัน จำได้ว่า ดร.จันทนา K.U ๒๕ เสนอว่า รุ่น ๒๕ จะมาช่วย ๑๐ คู่ เราดีใจมาก ถึงแม้ว่าจะมาไม่ถึง ๑๐ คู่ ก็ไม่เป็นไร เราเข้าใจในการผูกพัน แต่ก็ชื่นชมในสปิริต ในเวลาสั้นๆเราสามารถรวบรวมได้ถึง ๕๐ คู่ มีคู่อาจารย์+ศิษย์ พ่อ + ลูก ลูก + แม่ พี่ + น้อง เพื่อน + เพื่อน K.U.๑๐ ถึง ๕๐ กว่า น่าชื่นใจจริงๆ
เมื่อจะทำแล้ว ก็อยากจะให้ดีที่สุด อ.สะเทื้อน จึงได้ไปเชิญ อ.สมาน ทองสิมา K.U.๑๐ อดีตนายกสมาคมลีลาศแห่งประเทศไทยมาเป็นประธานในการฝึกสอนและเต้นนำหมู่ และได้พวกเราอีกหลายคนมาช่วยฝึกสอน ที่จำได้ก็มีคุณเจนศักดิ์ K.U.๒๘ อุตส่าห์มาจากเมืองแพร่มาช่วย คุณสรศก(อ.กล้วย) K.U.๔๐ คุณวิโรจน์ K.U.๒๘) และภรรยาคือคุณวาสนา และอีกหลายคนที่มาช่วยกัน ขออภัยที่มิได้เอ่ยชื่อ งานออกมาดีมาก ประสบผลสำเร็จ ผู้ฝึกสอนหายเหนื่อย เป็นที่ประทับใจของเพื่อนพ้อง น้อง พี่ ที่มาในคืนนั้น
ฉบับนี้ ขอเขียนเล่าถึงเรื่องก่อนจะเกิดเป็นชมรมฯ และหลังจากร่วมงานกันของสมาชิกชาวชมรม ๑ ปี มีอะไรพร่องก็ช่วยกันเติม อะไรดีๆก็นำมาเสริม ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกัน ชมรมเราไปได้ดี และจากผลงาน ความสามารถเฉพาะตัว การเสียสละ คุณสุนิดา โอปนยิกุล ก็ได้เป็นประธานคนที่ ๒ และ ๓ ของเรา
ฉบับหน้า จะเขียนเล่าถึงชมรมยุคพัฒนา มีอะไรดีๆอยากเรียนให้ทราบ ที่นี่จะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง เราจะค่อยๆนำเสนอลีลาในการเต้นรำแต่ละจังหวะให้สมาชิกส.มก.ที่ไม่มีโอกาสมาเรียนได้ฝึกเต้นเองที่บ้านเพื่อความเพลิดเพลิน